วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555


จิตวิทยา
.....จิตวิทยา ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Psychology มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ Phyche แปลว่า วิญญาณ กับ Logos แปลว่า การศึกษา   ตามรูปศัพท์ จิตวิทยาจึงแปลว่า วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับวิญญาณ  แต่ในปัจจุบันนี้ จิตวิทยาได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป ความหมายของจิตวิทยาได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย นั่นคือ จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์
.....จิตวิทยา ( psychology) คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ (กระบวนการของจิต) , กระบวนความคิด, และพฤติกรรม ของมนุษย์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เนื้อหาที่นักจิตวิทยาศึกษาเช่น การรับรู้ (กระบวนการรับข้อมูลของมนุษย์) , อารมณ์, บุคลิกภาพ, พฤติกรรม, และรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จิตวิทยายังมีความหมายรวมไปถึงการประยุกต์ใช้ความรู้กับกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน (เช่นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในครอบครัว, ระบบการศึกษา, การจ้างงานเป็นต้น) และยังรวมถึงการใช้ความรู้ทางจิตวิทยาสำหรับการรักษาปัญหาสุขภาพจิต นักจิตวิทยามีความพยายามที่จะศึกษาทำความเข้าใจถึงหน้าที่หรือจุดประสงค์ต่าง ๆ ของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ขณะเดียวกันก็ทำการศึกษาขั้นตอนของระบบประสาทซึ่งมีผลต่อการควบคุมและแสดงออกของพฤติกรรม
.....จิตวิทยานับว่าเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งซึ่งเรียกว่า วิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Psychology) แขนงหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทเกี่ยวข้องต่อมนุษย์ในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีความรู้หรือไม่มีความรูทางด้านนี้เลยก็ตาม จิตวิทยานั้นเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนเราในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านส่วนตัว ครอบครัว การประกอบสัมมาอาชีพ การอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น ๆ เป็นต้น วิชาจิตวิทยานั้นจะมุ่งศึกษาเกี่ยวกับทางด้านของ พฤติกรรม (Behavior) ของบุคคลในทุกแง่มุม เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ความรู้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ




ความสำคัญของจิตวิทยา
.....จิตวิทยามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตอย่างกว้างขวาง ผู้ศึกษาจิตวิทยาสามารถได้รับประโยชน์ดังต่อไปนี้
          1.ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ เช่น ความต้องการ การแก้ปัญหา การปรับตัว อารมณ์และความรู่สึกในสถานการณ์ต่างๆ
          2.ช่วยในการแก้ปัญหาทางจิต รู้จักวิธีรักษาสุขภาพจิตได้ดี สามารถเอาชนะปมด้อยต่างๆ รู้วิธีแก้ปัญหาและปรับตัวอย่างเหมาะสม ขจัดความขัดแย้งในใจได้และความวิตกกังวลได้
          3.สามารถเข้าใจ ตัดสินใจ และมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลในสังคม
          4.ช่วยในการวางแผนการใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสม

วิธีการศึกษาทางจิตวิทยา

.....ในการรวบรวมข้อมูลเพื่อศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ เนื่องจากมนุษย์มีพฤติกรรมหลากหลายรูปแบบ นักจิตวิทยาจึงต้องใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลหลาย วิธี ซึ่งการที่จะเลือกใช้วิธีการใด ๆ ย่อมขึ้นอยู่กับปัญหาที่จะศึกษาและสมมุติฐานที่ตั้งขึ้น วิธีการที่นักจิตวิทยานิยมใช้มี 6 วิธีด้วยกัน ดังนี้ 
1.การสังเกต (observation) 
.....เป็นการใช้ประสาทสัมผัสของผู้สังเกตสัมผัสสิ่งที่ต้องการสังเกต นักจิตวิทยาจะใช้วิธีการสังเกตอย่างมีเหตุผล และแผนการในการสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อหาอันดับต่อเนื่องของพฤติกรรมทั้งหลายว่า พฤติกรรมอันหนึ่งซึ่งเกิดก่อนเป็นสาเหตุของพฤติกรรมที่ตามมาใช่หรือไม่ การสังเกตแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การสังเกตอย่างมีระบบและการสังเกตอย่างไม่มีระบบ
          1.1 การสังเกตอย่างมีระบบ หมายถึง การสังเกตที่มีการวางแผนล่วงหน้าว่าจะสังเกตพฤติกรรมประเภทใด ในช่วงเวลาใด จะบันทึกพฤติกรรมที่สังเกตอย่างไร
          1.2 การสังเกตอย่างไม่มีระบบ หมายถึงการสังเกตที่ไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้า เพียงแต่เมื่อผู้สังเกตพบเหตุการณ์ที่ตนสนใจก็สังเกตรายละเอียดบางอย่างเอาไว้
.....การสังเกตอาจใช้เครื่องมือช่วยบันทึกรายละเอียด เช่น เครื่องบันทึกเสียง วิดิโอและกล้องถ่ายภาพ เป็นต้น ภายหลังจากการสังเกตพฤติกรรมแล้วต้องมีการบันทึกพฤติกรรมที่สังเกตทุกครั้ง โดยผู้สังเกตต้องวางตัวเป็นกลาง ปราศจากอคติ และควรเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี
2. การสำรวจ (surveys) 
......เป็นวิธีการที่ใช้กันแพร่หลายในการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ เป็นการรวบรวมข้อมูลจากประชากร หรือจากกลุ่มตัวอย่าง และมักเป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเจตคติและความสนใจ ความคิดเห็นและการรับรู้ ข้อดีของการศึกษาวิธีการนี้คือ สามารถตั้งคำถามได้ตรงจุด และคำตอบจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น ๆ อย่างแท้จริง ในการสำรวจจะต้องมีการวางแผนในการเลือกกลุ่มประชากรเครื่องมือที่ใช้ในการสำรวจได้แก่ แบบสอบถาม และการสัมภาษณ์ แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับผู้ที่อ่านออกเขียนได้ มี 2 แบบ คือแบบสอบถามปลายเปิด และแบบสอบถามปลายปิด ส่วนการสัมภาษณ์มักจะใช้ควบคู่กันไปกับแบบสอบถาม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ขึ้น หรือใช้กับบุคคลที่อ่านหนังสือไม่ออกหรือเขียนไม่ได้ หรือไม่มีความถนัดในการใช้ภาษา
3. การทดสอบและการวัด (test and measurement)
          3.1 การทดสอบทางจิตวิทยา (psychological tests) เป็นเครื่องมือทางจิตวิทยาที่สำคัญมาก ใช้วัดความสามารถต่าง ๆ ของบุคคล เช่น ความสนใจ เจตคติ ความถนัดสติปัญญา บุคลิกภาพ และสัมฤทธิผลในด้านต่าง ๆ การทดสอบจะเป็นการเสนอสิ่งเร้าให้บุคลตอบสนองตามวิธีการหรือเกณฑ์ที่กำหนด สิ่งเร้าที่ใช้ในการทดสอบ เรียกว่าแบบทดสอบ ซึ่งแบบทดสอบที่ดีต้องมีความตรง (validity) มีความเที่ยง (reliability) และสามารถนำไปใช้ได้สะดวก การใช้แบบทดสอบเพื่อวัดบุคคลในด้านต่าง ๆ จะทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลมากขึ้น
          3.2 การวัดทางร่างกาย (biological measures) ได้มีการสร้างเครื่องมือและเทคนิคเพื่อวัดลักษณะต่าง ๆ ทางร่างกายและการทำงานของสมอง เพื่อดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับระบบต่าง ๆ ของร่างกายในขณะที่เกิดพฤติกรรม เช่น มีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรง เกิดจากการหลั่งสารเคมีบางอย่างผิดปกติในสมอง หรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบในกระแสเลือด จะทำให้คนรู้สึกหิว ซึ่งผิดกับสมัยก่อนที่เชื่อกันว่า ความหิวเกิดจากการปรับตัวของกระเพาะอาหาร หรือการสร้างเครื่องมือเพื่อวัดการไหลเวียนของเลือด การทำงานของสมอง การเปลี่ยนแปลงทางเคมีและไฟฟ้าภายในร่างกายในขณะที่บุคคลมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ติดยาเสพย์ติด ประสาทหลอน นอนหลับ อาจจะวัดการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด และระบบการหายใจในขณะที่คนมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างรุนแรง อาจจะวัดการบีบตัวของกล้ามเนื้อและการทำงานของคลื่นสมองในขณะที่คนอยู่ในภาวะเครียด และผ่อนคลาย
4. การศึกษาสหสัมพันธ์ (correlational studies)
.....สหสัมพันธ์เป็นเครื่องมือทางสถิติที่นักจิตวิทยานำมาใช้ในการวัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 2 ตัว ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้วิจัย เช่น สติปัญญาของพ่อแม่กับสติปัญญาของลูกมีความสัมพันธ์กันอย่างไร หรือการศึกษาพฤติกรรมของเด็กนักเรียนที่เข้าชั้นเรียนสม่ำเสมอกับเด็กนักเรียนที่ขาดเรียนบ่อย ในประเด็นที่ว่าเด็กนักเรียนที่เข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอโดยทั่วไปจะทำคะแนนสอบได้ดีกว่าเด็กนักเรียนที่ขาดเรียนบ่อย ในการศึกษาผู้วิจัยไม่ได้ควบคุมตัวแปรใด ๆ เลยไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจในการเรียนของเด็ก หรือคะแนนสอบ แต่ศึกษาสังเกตความสัมพันธ์ของเด็กทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งนี้ในการสำรวจก็ศึกษาสหสัมพันธ์ได้เช่นเดียวกัน ถ้าผู้สัมภาษณ์ทำการเปรียบเทียบกลุ่ม 2 กลุ่ม หรือมากกว่า 2กลุ่ม เช่น จะเปรียบเทียบความเชื่อของเพศชายกับเพศหญิง หรือความเชื่อของคนหนุ่มกับคนแก่ว่าเป็นอย่างไร โดยการวัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตัวหนึ่ง (เพศ หรืออายุ) กับตัวแปรอีกตัวหนึ่ง (ความเชื่อ)
5. การศึกษาอัตชีวประวัติ (case histories) 
.....เป็นวิธีการศึกษาที่นิยมใช้กับผู้ที่มีปัญหาทางอารมณ์ มีความประพฤติ หรือมีความผิดปกติทางด้านจิตใจ เป็นการศึกษาชีวประวัติ หรือภูมิหลังของบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างละเอียดในทุกด้าน ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ซึ่งจะทำให้ทราบประวัติ พัฒนาการของบุคคลนั้นสามารถทำได้โดยการสังเกต และบันทึกการพัฒนาการของบุคคลนั้น ๆ เอาไว้ หรือจัดสร้างชีวประวัติขึ้นมาใหม่โดยอาศัยข้อมูลจากการบอกเล่าของผู้ที่ต้องการศึกษาจากบิดามารดา หรือจากบุคคลอื่น ๆ ที่รู้จักและเกี่ยวข้องกับบุคคลนั้นเป็นอย่างดี รวมทั้งใช้วิธีการสัมภาษณ์ซึ่งจะสามารถค้นหาพฤติกรรม และความรู้สึกต่าง ๆ ภายในของบุคคลที่มีปัญหา การศึกษาวิธีนี้จะช่วยให้เข้าใจสาเหตุของพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของบุคคลนั้นได้มากขึ้น
6. การทดลอง (experimental studies) 
.....เป็นการจัดหรือการสร้างสถานการณ์ขึ้นเพื่อการศึกษา และมีการควบคุมตัวแปรที่ไม่ต้องการให้มีอิทธิพลต่อผลการทดลองน้อยที่สุด การทดลองสามารถทำได้ในสภาพธรรมชาติ เรียกว่า การทดลองภาคสนาม และการทดลองในห้องปฏิบัติการ แต่การควบคุมตัวแปรในการทดลองภาคสนามทำได้รัดกุมน้อยกว่าการทดลองในห้องปฏิบัติการ นอกจากนั้นในการทดลองทางจิตวิทยานิยมใช้ทดลองเป็นกลุ่ม โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ด้วยกันคือ (1) กลุ่มทดลอง หมายถึง กลุ่มที่ต้องการจะศึกษา เป็นกลุ่มที่ต้องการจะศึกษา จะถูกกำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการบางอย่าง หรือมีการสร้างภาพการณ์บางอย่างขึ้นมา (2) กลุ่มควบคุม หมายถึง กลุ่มที่ต้องการจะนำมาใช้เปรียบเทียบกับกลุ่มทดลอง เป็นกลุ่มที่จะอยู่ในสภาพการณ์ปกติ






จิตวิทยาการศึกษา
.....จิตวิทยาการศึกษาเป็นวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียน ในสภาพการเรียนการสอนหรือในชั้นเรียน เพื่อค้นคิดทฤษฎีและหลักการที่จะนำมาช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษาและส่งเสริมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ
.....จิตวิทยาการศึกษามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา การสร้างหลักสูตรและการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความแตกต่างของบุคคล นักการศึกษาและครูจำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาการศึกษา    เพื่อจะได้เข้าใจพฤติกรรมของผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนแก้ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนเหมือนกับวิศวกรที่จำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
.....โดยทั่วไปแล้ว เนื้อหาของจิตวิทยาการศึกษาที่เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับครูและนักการศึกษาประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้
          1.ความสำคัญของวัตถุประสงค์ของการศึกษาและบทเรียน นักจิตวิทยาการศึกษาได้เน้นความสำคัญของความแจ่มแจ้งของการระบุวัตถุประสงค์ของการศึกษา บทเรียน ตลอดจนถึงหน่วยการเรียน เพราะวัตถุประสงค์จะเป็นตัวกำหนดการจัดการเรียนการสอน
          2.ทฤษฎีพัฒนาการ และทฤษฎีบุคลิกภาพ เป็นเรื่องที่นักการศึกษาและครูจะต้องมีความรู้      เพราะ จะช่วยให้เข้าใจเอกลักษณ์ของผู้เรียนในวัยต่างๆ โดยเฉพาะวัยอนุบาล วัยเด็ก และวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่กำลังศึกษาในโรงเรียน
          3.ความแตกต่างระหว่างบุคคลและกลุ่ม นอกจากมีความเข้าใจพัฒนาการของเด็กวัยต่างๆ แล้ว     นักการศึกษาและครูจะต้องเรียนรู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและกลุ่มทางด้านระดับเชาวน์ปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ เพศ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนักจิตวิทยาได้คิดวิธีการวิจัยที่จะช่วยชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นตัวแปรที่สำคัญในการเลือกวิธีสอน และในการสร้างหลักสูตรที่เหมาะสม
          4.ทฤษฎีการเรียนรู้  นักจิตวิทยาที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ นอกจากจะสนใจว่าทฤษฎีการเรียนรู้จะช่วยนักเรียนให้เรียนรู้และจดจำอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไรแล้ว ยังสนใจองค์ประกอบเกี่ยวกับตัวของ    ผู้เรียน  เช่น แรงจูงใจว่ามีความสัมพันธ์กับการเรียนรู้อย่างไร ความรู้เหล่านี้ก็มีความสำคัญต่อการเรียนการสอน
          5.ทฤษฎีการสอนและเทคโนโลยีทางการศึกษา นักจิตวิทยาการศึกษาได้เป็นผู้นำในการบุกเบิกตั้งทฤษฎีการสอน ซึ่งมีความสำคัญและมีประโยชน์เท่าเทียมกับทฤษฎีการเรียนรู้และพัฒนาการในการช่วยนักการศึกษาและครูเกี่ยวกับการเรียนการสอน สำหรับเทคโนโลยีในการสอนที่จะช่วยครูได้มากก็คือ คอมพิวเตอร์ช่วยการสอน
          6.หลักการสอนและวิธีสอน นักจิตวิทยาการศึกษาได้เสนอหลักการสอนและวิธีการสอนตามทฤษฎีทางจิตวิทยาที่แต่ละท่านยึดถือ เช่น หลักการสอนและวิธีสอนตามทัศนะนักจิตวิทยาพฤติกรรมนิยม ปัญญานิยม และมนุษย์นิยม  
          7.หลักการวัดผลและประเมินผลการศึกษา ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้จะช่วยให้นักการศึกษา และครูทราบว่า การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือผู้เรียนได้สัมฤทธิผลตามวัตถุประสงค์เฉพาะของ      แต่ละวิชาหรือหน่วยเรียนหรือไม่   เพราะถ้าผู้เรียนมีสัมฤทธิผลสูง ก็จะเป็นผลสะท้อนว่าโปรแกรมการศึกษามีประสิทธิภาพ
          8.การสร้างบรรยากาศของห้องเรียน เพื่อเอื้อการเรียนรู้และช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพของนักเรียน






การจูงใจ
.....การจูงใจ (Motivation)   คืออะไร มีผู้ให้คำจำกัดความของการจูงใจไว้ดังนี้
          1.  การจูงใจ  คือขบวนการทางจิตใจที่ผลักดันให้บุคคลแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งจนสำเร็จ และถูกต้องตามแนวทางที่ต้องการ
          2.  การจูงใจ  หมายถึงแรงซึ่งส่งเสริมให้เด็กทำงานจนบรรลุถึงความสำเร็จ และแรงนี้ย่อมนำทางให้เด็กทำงานไปในแนวที่ถูกต้องด้วย
          3.  การจูงใจ  หมายถึงพฤติกรรมที่สนองความต้องการของมนุษย์ และเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่        จุดหมายปลายทาง

ประเภทของการจูงใจ
.....นักจิตวิทยาแบ่งการจูงใจเป็น 2 ประเภทดังนี้
          1.การจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation)   ได้แก่  ความต้องการ  ความอยากรู้อยากเห็น    ความสนใจ  ตลอดจนการที่มีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นแรงจูงใจที่เกิดจากตัวบุคคลโดยตรง
          2.การจูงใจภายนอก (Extrinsic Motivation) ได้แก่ แรงที่เกิดจากเครื่องเร้าภายนอกมากระตุ้น    ทำให้บุคคลเกิดพฤติกรรมต่างๆ ได้ แรงจูงใจดังกล่าวมีดังนี้คือ
               2.1  บุคลิกภาพของครู รูปร่างตลอดจนอารมณ์ และความรู้ของครู ช่วยให้นักเรียนเกิดความ
ประทับใจ และเกิดความสำเร็จในการเรียนได้มาก
              2.2  ความสำเร็จในการทำงาน  เด็กที่ได้รับความรู้และทักษะเพิ่มขึ้นจากการเรียน ก็เป็นแรงจูงใจให้เด็กตั้งใจเรียนดียิ่งขึ้น
              2.3  เครื่องล่อต่าง ๆ  เช่น 
                    ก.  การให้รางวัล (Reward) รางวัลไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของเสมอไป   อาจจะเป็นการให้     คำชมเชย ให้สิทธิพิเศษก็ถือเป็นการให้รางวัลทั้งสิ้น การให้รางวัลมีทั้งคุณและโทษ   ประโยชน์ที่ได้จากการ     ให้รางวัลนั้นอาจจะช่วยให้เด็กขยัน และประพฤติดีขึ้น เด็กมีความพยามยาม และเอาใจใส่การเรียนดีขึ้น เป็นต้น ส่วนโทษของการให้รางวัลนั้น อาจจะทำให้เด็กเห็นคุณค่าของรางวัลมากกว่าคุณค่าของการเรียน ทำให้เด็กทำดีเฉพาะตอนได้รางวัล และนอกจากนี้ยังทำให้ครูสิ้นเปลืองมากด้วย
                    ข.  การลงโทษ (Punishment)  เช่นการเฆี่ยนตี การตำหนิ การตัดสิทธิ ตลอดจนการ   กักบริเวณ เป็นต้น การลงโทษก็นับเป็นวิธีที่ช่วยให้เด็กขยันและตั้งใจเรียนดีขึ้น ไม่คิดทำความผิดต่อไป  แต่การลงโทษก็ให้โทษด้วยเช่นเดียวกัน เช่น ทำให้เด็กเกิดอารมณ์ตึงเครียด ทำให้เป็นผลเสียต่อการเรียน  บางคราวอาจทำให้เด็กเกิดพยาบาทครูได้ ถ้าเด็กเห็นว่าการลงโทษของครูไม่ยุติธรรม
                    ค.  การแข่งขัน (Competition)  การแข่งขันถ้าเป็นไปในทำนองเป็นมิตร จะเป็นการจูงใจในการเรียนที่ดีอย่างหนึ่ง การแข่งขันที่นักจิตวิทยาสนับสนุน มี 3 วิธี ดังนี้
                        1.การแข่งขันระหว่างนักเรียนทั้งหมด
                        2. การแข่งขันระหว่างหมู่ต่อหมู่
                        3.การแข่งขันกับตนเอง
.....การแข่งขันข้อ1 และข้อ 2  ย่อมมีทั้งคุณและโทษ   คุณประโยชน์ที่จะได้นั้น อาจจะทำให้เด็กเกิดความขยันหมั่นเพียรที่จะเอาชนะ และเกิดความภาคภูมิใจเมื่อชนะ ตลอดจนเกิดความสามัคคีกันระหว่างกลุ่ม ส่วนโทษนั้นอาจจะทำให้เกิดความอิจฉาริษยากันในระหว่างนักเรียน ทำให้เกี่ยงงอนกัน คอยจับผิดกัน และอาจจะทำให้แตกความสามัคคีกันได้
.....การแข่งขันที่นักจิตวิทยาสนับสนุนอย่างยิ่งคือ การแข่งขันกับตนเอง (Self - Competition)  เพราะ ช่วยให้บุคคลประสบความเจริญสูงสุด เท่าที่ความสามารถของบุคคลจะอำนวยให้ ช่วยให้เด็กประสบความก้าวหน้าตามอัตภาพ





จิตวิทยาการเรียนรู้
.....การเรียนรู้  เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญและจำเป็นในการดำรงชีวิต สิ่งมีชีวิตไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิดจนตาย  สำหรับมนุษย์การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์โลกอื่น ๆ    ดังพระราชนิพนธ์บทความของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ  ที่ว่า  "สิ่งที่ทำให้คนเราแตกต่างจากสัตว์อื่น ๆ ก็เพราะว่า   คนย่อมมีปัญญา  ที่จะนึกคิดและปฏิบัติสิ่งดีมีประโยชน์และถูกต้องได้ .  "  การเรียนรู้ช่วยให้มนุษย์รู้จักวิธีดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข  ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสภาพการต่างๆ  ได้    ความสามารถในการเรียนรู้ของมนุษย์จะมีอิทธิพลต่อความสำเร็จและความพึงพอใจในชีวิตของมนุษย์ด้วย

ความหมายของการเรียนรู้
นักจิตวิทยาหลายท่านให้ความหมายของการเรียนรู้ไว้ เช่น
.....คิมเบิล  (   Kimble ,  1964   )  "การเรียนรู้   เป็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างถาวรในพฤติกรรม  อันเป็นผลมาจากการฝึกที่ได้รับการเสริมแรง"
.....ฮิลการ์ด และ เบาเวอร์  (Hilgard & Bower, 1981)  "การเรียนรู้ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  อันเป็นผลมาจากประสบการณ์และการฝึก   ทั้งนี้ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่เกิดจากการตอบสนองตามสัญชาตญาณ  ฤทธิ์ของยา หรือสารเคมี หรือปฏิกิริยาสะท้อนตามธรรมชาติของมนุษย์  "
.....คอนบาค  (  Cronbach  )  "การเรียนรู้  เป็นการแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลเนื่องมาจากประสบการณ์ที่แต่ละบุคคลประสบมา "
.....พจนานุกรมของเวบสเตอร์  (Webster 's  Third  New International Dictionary) "การเรียนรู้ คือ  กระบวนการเพิ่มพูนและปรุงแต่งระบบความรู้  ทักษะ นิสัย หรือการแสดงออกต่างๆ อันมีผลมาจากสิ่งกระตุ้นอินทรีย์โดยผ่านประสบการณ์ การปฏิบัติ หรือการฝึกฝน"
 ประดินันท์  อุปรมัย (๒๕๔๐, ชุดวิชาพื้นฐานการศึกษา(มนุษย์กับการเรียนรู้) : นนทบุรี, พิมพ์ครั้งที่ ๑๕,     หน้า ๑๒๑) “ การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงของบุคคลอันมีผลเนื่องมาจากการได้รับประสบการณ์  โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเหตุทำให้บุคคลเผชิญสถานการณ์เดิมแตกต่างไปจากเดิม “  ประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหมายถึงทั้งประสบการณ์ทางตรงและประสบการณ์ทางอ้อม
.....ประสบการณ์ทางตรง คือ ประสบการณ์ที่บุคคลได้พบหรือสัมผัสด้วยตนเอง  เช่น เด็กเล็กๆ ที่ยังไม่เคยรู้จักหรือเรียนรู้คำว่า “ร้อน” เวลาที่คลานเข้าไปใกล้กาน้ำร้อน แล้วผู้ใหญ่บอกว่าร้อน และห้ามคลานเข้าไปหา  เด็กย่อมไม่เข้าใจและคงคลานเข้าไปหาอยู่อีก จนกว่าจะได้ใช้มือหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไปสัมผัสกาน้ำร้อน จึงจะรู้ว่ากาน้ำที่ว่าร้อนนั้นเป็นอย่างไร  ต่อไป เมื่อเขาเห็นกาน้ำอีกแล้วผู้ใหญ่บอกว่ากาน้ำนั้นร้อนเขาจะไม่คลานเข้าไปจับกาน้ำนั้น  เพราะเกิดการเรียนรู้คำว่าร้อนที่ผู้ใหญ่บอกแล้ว  เช่นนี้กล่าวได้ว่า ประสบการณ์ตรงมีผลทำให้เกิดการเรียนรู้เพราะมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เผชิญกับสถานการณ์เดิมแตกต่างไปจากเดิม  ในการมีประสบการณ์ตรงบางอย่างอาจทำให้บุคคลมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่ไม่ถือว่าเป็นการเรียนรู้ ได้แก่
          1.พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากฤทธิ์ยา หรือสิ่งเสพติดบางอย่าง
          2.พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากความเจ็บป่วยทางกายหรือทางใจ
          3.พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากความเหนื่อยล้าของร่างกาย
          4.พฤติกรรมที่เกิดจากปฏิกิริยาสะท้อนต่างๆ
.....ประสบการณ์ทางอ้อม คือ ประสบการณ์ที่ผู้เรียนมิได้พบหรือสัมผัสด้วยตนเองโดยตรง  แต่อาจได้รับประสบการณ์ทางอ้อมจาก  การอบรมสั่งสอนหรือการบอกเล่า การอ่านหนังสือต่างๆ และการรับรู้จากสื่อมวลชนต่างๆ

จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้
.....พฤติกรรมการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายของนักการศึกษาซึ่งกำหนดโดย บลูม และคณะ (Bloom and Others ) มุ่งพัฒนาผู้เรียนใน 3ด้าน ดังนี้
          1.ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) คือ ผลของการเรียนรู้ที่เป็นความสามารถทางสมอง ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์และประเมินผล
          2.ด้านเจตพิสัย (Affective Domain ) คือ ผลของการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงด้านความรู้สึก ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท ความรู้สึก ความสนใจ ทัศนคติ การประเมินค่าและค่านิยม
          3.ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) คือ ผลของการเรียนรู้ที่เป็นความสามารถด้านการปฏิบัติ ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท การเคลื่อนไหว การกระทำ การปฏิบัติงาน การมีทักษะและความชำนาญ

องค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้
.....ดอลลาร์ด และมิลเลอร์ (Dallard and Miller) เสนอว่าการเรียนรู้ มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ
          1.แรงขับ (Drive) เป็นความต้องการที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล เป็นความพร้อมที่จะเรียนรู้ของบุคคลทั้งสมอง ระบบประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ แรงขับและความพร้อมเหล่านี้จะก่อให้เกิดปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมที่จะชักนำไปสู่การเรียนรู้ต่อไป
          2.สิ่งเร้า (Stimulus) เป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้บุคคลมีปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมตอบสนองออกมา ในสภาพการเรียนการสอน สิ่งเร้าจะหมายถึงครู กิจกรรมการสอน และอุปกรณ์การสอนต่างๆ ที่ครูนำมาใช้
          3.การตอบสนอง (Response) เป็นปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกมาเมื่อบุคคลได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้า ทั้งส่วนที่สังเกตเห็นได้และส่วนที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เช่น การเคลื่อนไหว ท่าทาง คำพูด การคิด การรับรู้ ความสนใจ และความรู้สึก เป็นต้น
          4.การเสริมแรง (Reinforcement) เป็นการให้สิ่งที่มีอิทธิพลต่อบุคคลอันมีผลในการเพิ่มพลังให้เกิดการเชื่อมโยง ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองเพิ่มขึ้น การเสริมแรงมีทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ของบุคคลเป็นอันมาก

พื้นฐานทางจิตวิทยาของการเรียนรู้
          1. การเรียนรู้ตามทัศนะกลุ่มปัญญานิยม (Cognitivist Perspective) 
               นักจิตวิทยากลุ่มปัญญานิยม หรือนักจิตวิทยากลุ่มความรู้ความเข้าใจ เชื่อว่ามนุษย์เรียนรู้จากประสบการณ์ ประสบการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์ได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อม จุดเริ่มของการเรียนรู้จะอยู่ที่การรู้จักจำแนก (Differentiation) สิ่งต่างๆ ที่ไม่เหมือนกันออกจากกัน และสามารถจัดไว้เป็นกลุ่มหรือพวก ประสบการณ์ในการรู้จำแนกจะนำไปสู่การพัฒนาแนวคิด (Concept) ในเรื่องนั้นๆ กระบวนการขั้นต่อไปก็คือ การนำแนวคิดเหล่านั้นมาบูรณาการ (Integration) เข้าด้วยกัน เกิดการเรียนรู้ขึ้นเป็นหลักการ และทฤษฎีต่างๆ ซึ่งเป็นความรู้ความเข้าใจในลักษณะที่เป็นนามธรรมและสามารถเชื่อมโยงความรู้ที่ได้นี้ไปเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ในสิ่งอื่นๆ 
          2. การเรียนรู้ตามทัศนะกลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorist Perspective)
               นักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยม เชื่อว่าการเรียนรู้คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ
               1. แรงขับ (Drive) หมายถึง ความต้องการของผู้เรียน ซึ่งจะจูงใจผู้เรียนให้หาทางสนองตอบต่อความต้องการของตนเอง
               2. สิ่งเร้า (Stimulu s) สิ่งเร้าอาจเป็นความรู้หรือการชี้แนะจากครูหรือจากแหล่งการเรียน (สื่อ) ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้เรียนตอบสนอง
               3. การตอบสนอง (Response) เป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่สังเกตได้จากพฤติ กรรมของผู้เรียนที่แสดงออกมา
               4. การเสริมแรง (Reinforcement) เป็นการให้รางวัลเมื่อผู้เรียนตอบสนองได้ถูกต้อง  สื่อการสอนเปรียบเสมือนสิ่งเร้าเพื่อการเรียนรู้ ตัวอย่างสื่อการสอนที่ใช้ทฤษฎีการเรียนรู้นี้ได้แก่ บทเรียนโปรแกรม ชุดการสอนและนวัตกรรมการสอนประเภทต่างๆ
          3. การเรียนรู้ตามทัศนะกลุ่มสร้างสรรค์ความรู้ ( Constructivist Perspective ) 
               นักจิตวิทยากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อเนื่องจากกลุ่มปัญญานิยม (Cognitivist) ที่เชื่อว่า การเรียนรู้เกิดจากการสร้างสรรค์ของผู้เรียน ด้วยการนำความรู้เดิม (ประสบการณ์) มาวิเคราะห์ และสังเคราะห์อย่างมีเหตุผล แล้วประมวลเป็นความรู้ใหม่เพื่อนำไปพัฒนาหรือแก้ปัญหาต่อไป ทั้งนี้ผู้เรียนจะเป็นผู้สร้างสรรค์ด้วยการแปลความหมาย (Interpretation) ข้อมูลและสารสนเทศที่มีอยู่รอบๆ ตัวด้วยตนเองดังนั้น จุดประสงค์การเรียนการสอนจึงไม่ใช่การสอนความรู้ แต่เป็นการสร้างสรรค์สถานการณ์ต่างๆ ที่ผู้เรียนสามารถแปลความหมายของข้อความรู้ต่างๆ เพื่อความเข้าใจด้วยตัวของผู้เรียนเองดังนั้น การเรียนการสอนตามความเชื่อของนักจิตวิทยากลุ่มนี้ก็คือ การชี้แนะแนวทางการเรียนเพื่อเกิดการเรียนรู้ตามความสามารถของผู้เรียน การวัด และประเมินผลการเรียนจะอยู่บนพื้นฐานของความสามารถของผู้เรียนในการใช้ความรู้เพื่อเกื้อหนุนการคิดในการดำรงชีวิตจริง
          4. การเรียนรู้ตามทัศนะกลุ่มจิตวิทยาสังคม ( Social-Psychological Perspective ) 
               จิตวิทยาสังคมเป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่รู้จักกันมานานในการศึกษาเกี่ยวกับการเรียนการสอน นักจิตวิทยาสังคมเชื่อว่า ลักษณะกลุ่มสังคมในห้องเรียนมีผลต่อการเรียนรู้ เช่น การเรียนแบบอิสระ การเรียนเป็นกลุ่มเล็ก หรือการเรียนรวมทั้งชั้น บทบาทสำคัญของการเรียนจะอยู่ที่ว่า ผู้เรียนสามารถควบคุมกิจกรรมการเรียนได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งผลการศึกษาพบว่า การเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning) มีผลดีกว่าการเรียนแบบแข่งขัน (Competitive Learning)








การถ่ายโอนการเรียนรู้
.....การถ่ายโอนการเรียนรู้ หมายถึง การเรียนหรือประสบการณ์ครั้งก่อนมีผลต่อการเรียนรู้ครั้งหลัง แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
          1. การถ่ายโอนการเรียนรู้ทางบวก คือการเรียนหรือประสบการณ์ครั้งก่อนสนับสนุนการเรียนครั้งใหม่ ทำให้เรียนได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น เช่น เรียนการขี่จักรยานจนขี่จักรยานเป็น เมื่อไปหัดขี่มอเตอร์ไซด์ก็จะขี่เป็นเร็วกว่าคนที่ไม่เคยเรียนหรือมีประสบการณ์ในการขี่จักรยานมาก่อน
          2. การถ่ายโอนการเรียนรู้ทางลบ คือ การเรียนหรือประสบการณ์เดิมขัดขวางการเรียนครั้งใหม่ ไม่ให้ได้ผลเท่าที่ควร เช่น คนที่ถนัดขวาเขียนหนังสือด้วยมือขวา หากฝึกให้เขียนหนังสือด้วยมือซ้าย กว่าจะเขียนได้ต้องอาศัยความมานะพยายามเป็นอย่างมาก จึงจะเขียนได้
.....ในการเรียนการสอนต้องการให้เกิดการถ่ายโอนการเรียนรู้จากประสบการณ์เดิมไปสู่การเรียนบทเรียนใหม่เพื่อช่วยให้การเรียนบทเรียนใหม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (เกิดการถ่ายโอนการเรียนรู้ทางบวก) เช่นเรียนวิธีการแก้ปัญหาจนแก้ปัญหาได้ แล้วนำวิธีการแก้ปัญหาไปใช้แก้ปัญหาใหม่ประสบได้ การสอนเพื่อให้เกิดการถ่ายโอนการเรียนรู้ทำให้ได้ดังนี้
          1.สอนให้นักเรียนเห็นความสัมพันธ์ของบทเรียนในอดีต (ประสบการณ์เดิม) กับบทเรียนใหม่ที่กำลังเรียน (ในแง่ของความคล้ายคลึงกัน) เพื่อที่จะได้นำความรู้เดิมหรือประสบการณ์เดิมมาใช้ในการเรียนบทเรียนใหม่
          2.สอนให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนที่กำลังเรียนอย่างลึกซึ้ง เพื่อนำความรู้ไปใช้ในการเรียนบทเรียนต่อไป
          3. ห้นักเรียนเรียนเกิน คือเรียนจนรู้และเข้าใจบทเรียนแล้วก็ยังทบทวนซ้ำ ๆ หรือเรียนซ้ำอีก เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่แน่นอนชัดเจนซึ่งสามารถที่จะนำไปใช้ในการเรียนบทเรียนใหม่ หรือในสถานการณ์ใหม่ ๆ ได้

ธรรมชาติของการเรียนรู้ 
.....การเรียนรู้เป็นกระบวนการ การเกิดการเรียนรู้ของบุคคลจะมีกระบวนการของการเรียนรู้จากการไม่รู้ไปสู่การเรียนรู้ 5 ขั้นตอน คือ
               1.มีสิ่งเร้ามากระตุ้นบุคคล
               2.บุคคลสัมผัสสิ่งเร้าด้วยประสาททั้ง 5
               3.บุคคลแปลความหมายหรือรับรู้สิ่งเร้า
               4.บุคคลมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสิ่งเร้าตามที่รับรู้
               5.บุคคลประเมินผลที่เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า
.....การเรียนรู้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งเร้า (Stimulus) มากระตุ้นบุคคล ระบบประสาทจะตื่นตัวเกิดการรับสัมผัส (Sensation) ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 แล้วส่งกระแสประสาทไปยังสมองเพื่อแปลความหมายโดยอาศัยประสบการณ์เดิมเป็นการรับรู้ (Perception)ใหม่ อาจสอดคล้องหรือแตกต่างไปจากประสบการณ์เดิม แล้วสรุปผลของการรับรู้นั้น เป็นความเข้าใจหรือความคิดรวบยอด (Concept) และมีปฏิกิริยาตอบสนอง (Response) อย่างใดอย่างหนึ่งต่อสิ่งเร้า ตามที่รับรู้ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแสดงว่า เกิดการเรียนรู้แล้ว 









จิตวิทยากับการเรียนการสอน
.....จิตวิทยาการเรียนการสอนเป็นศาสตร์อันมุ่งศึกษาการเรียนรู้และพฤติกรรมของผู้เรียนในสถานการณ์การเรียนการสอน พร้อมทั้งหาวิธีที่ดีที่สุดในการสอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างสอดคล้องกับพัฒนาการของผู้เรียน

ความสำคัญของจิตวิทยาการเรียนการสอน
          -  ทำให้รู้จักลักษณะนิสัยของผู้เรียน
          -  ทำให้เข้าใจพัฒนาการบุคลิกภาพบางอย่างของผู้เรียน
          -  ทำให้ครูเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล
          -  ทำให้ครูทราบว่ามีองค์ประกอบใดบ้างที่มีผลกระทบต่อสัมฤทธิ์ทางการเรียนเช่น แรงจูงใจ ความคาดหวัง เชาวน์ปัญญา ทัศนคติ ฯลฯ
          -  ทำให้ครูทราบทฤษฎี หลักการเรียนรู้ รวมทั้งหลักการสอนและวิธีการสอน
          -  ทำให้ครูวางแผนการสอนได้อย่างเหมาะสม
          -  ทำให้ครูจัดสภาพแวดล้อมของห้องเรียนได้สอดคล้องกับพัฒนาการ รวมทั้งสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่เอื้อต่อการปกครองชั้นเรียน (สุวรี, 2535)

ความรู้ที่อยู่ในขอบข่ายการเรียนการสอน
          1.ความรู้เรื่องพัฒนาการมนุษย์
          2.หลักการของการเรียนรู้และการสอนประกอบด้วยทฤษฎีการเรียนรู้และการเรียนรู้ชนิดต่างๆ
          3.ความแตกต่างระหว่างบุคคลที่มีผลต่อการเรียน
          4. การนำเอาหลักการและวิธีการเรียนรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาการเรียนการสอน

จุดมุ่งหมายของการนำจิตวิทยามาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน
ประการแรก   มุ่งพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ในสถานการณ์การเรียนการสอน
ประการที่สอง   นำเอาองค์ความรู้ข้างต้นมาสร้างรูปแบบเชิงปฏิบัติเพื่อครูและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา  สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน

หลักการสำคัญ
          1.มีความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอน
          2.มีความสามารถในการประยุกต์หลักการจิตวิทยาเพื่อการเรียนการสอน
          3.มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่
          4.มีเจตคติที่ดีต่อผู้เรียน





จิตวิทยาครู
.....ครู  หมายถึง  ผู้สอน  มาจากภาษาบาลีว่า “ครุ” ภาษาสันสกฤตว่า “คุรุ” แปลว่า หนัก  สูงใหญ่
          -  ครูต้องรับภารหนักในหน้าที่และความรับผิดชอบ
          -  ครูต้องมีความหนักแน่น  สุขุม  ไม่วู่วาม  ทั้งความคิดและการกระทำ

จิตวิทยาการศึกษาที่เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับครูประกอบด้วยหัวข้อ
          1.ความสำคัญของวัตถุประสงค์ของการศึกษาและบทเรียน
          2.ทฤษฎีพัฒนาการ และทฤษฎีบุคลิกภาพ
         3.ความแตกต่างระหว่างบุคคลและกลุ่ม
         4.ทฤษฎีการเรียนรู้
         5.ทฤษฎีการสอนและเทคโนโลยีทางการศึกษา
         6.หลักการสอนและวิธีการสอน 
         7.หลักการวัดผลและประเมินผลการศึกษา
         8.การสร้างบรรยากาศของห้องเรียน

ความสำคัญของจิตวิทยาการศึกษาต่ออาชีพครู
          1. ช่วยครูให้รู้จักลักษณะนิสัย (Characteristics) ของนักเรียนที่ครูต้องสอนโดยทราบหลักพัฒนาการทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์  สังคม  และบุคลิกภาพเป็นส่วนรวม
          2. ช่วยให้ครูมีความเข้าใจพัฒนาการทางบุคลิกภาพบางประการของนักเรียน เช่น อัตมโนทัศน์ (Self concept) ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร  และเรียนรู้ถึงบทบาทของครูในการที่จะช่วยนักเรียนให้มี อัตมโนทัศน์ ที่ดีและถูกต้องได้อย่างไร
          3. ช่วยครูให้มีความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างบุคคล  เพื่อจะได้ช่วยนักเรียนเป็นรายบุคคลให้พัฒนาตามศักยภาพของแต่ละบุคคล
          4. ช่วยให้ครูรู้วิธีจัดสภาพแวดล้อมของห้องเรียนให้เหมาะสมแก่วัย และขั้นพัฒนาการของนักเรียน  เพื่อจูงใจให้นักเรียนมีความสนใจและอยากจะเรียนรู้
          5. ช่วยให้ครูทราบถึงตัวแปรต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน  เช่น แรงจูงใจ อัตมโนทัศน์  และการตั้งความคาดหวังของครูที่มีต่อนักเรียน
         6. ช่วยครูในการเตรียมการสอนวางแผนการเรียน  เพื่อทำให้การสอนมีประสิทธิภาพสามารถช่วยให้นักเรียนทุกคนเรียนรู้ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล 
ความก้าวหน้าหรือมีปัญหาในการเรียนรู้อะไรบ้าง
         7. ช่วยครูให้ทราบหลักการและทฤษฎีของการเรียนรู้ที่นักจิตวิทยา ได้พิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี  เช่น  การเรียนรู้จากการสังเกตหรือการเลียนแบบ  (Observational learning หรือ Modeling)
         8. ช่วยครูให้ทราบถึงหลักการสอนและวิธีสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งพฤติกรรมของครูที่มีการสอนอย่างมีประสิทธิภาพว่ามีอะไรบ้าง เช่น การใช้คำถาม การให้แรงเสริม และการทำตนเป็นต้นแบบ
         9. ช่วยครูให้ทราบว่านักเรียนที่มีผลการเรียนดีไม่ได้เป็นเพราะ ระดับเชาวน์ปัญญาเพียงอย่างเดียว แต่มีองค์ประกอบอื่นๆ เช่น แรงจูงใจ (Motivation) ทัศนคติหรือ อัตมโนทัศน์ของนักเรียนและความคาดหวังของครูที่มีต่อตัวนักเรียน
         10. ช่วยครูในการปกครองชั้นและการสร้างบรรยากาศของห้องเรียน  ให้เอื้อต่อการเรียนรู้และเสริมสร้างบุคลิกภาพของนักเรียน    ครูและนักเรียนมีความรัก   และไว้วางใจซึ่งกันและกัน นักเรียน ต่างก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ทำให้ห้องเรียนเป็นสถานที่ที่ทุกคนมีความสุขและนักเรียนรักโรงเรียน  อยากมาโรงเรียน





จิตวิทยาพัฒนาการ (development psychology)
.....เป็นจิตวิทยาแขนงหนึ่งที่มุ่งศึกษามนุษย์ทุก วัยตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านการเจริญเติบโตทางร่างกาย ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก เจตคติ พฤติกรรมการแสดงออก สังคม บุคลิกภาพ ตลอดจนสติปัญญาของบุคคลในวัยต่างกัน เพื่อให้ทราบถึงลักษณะพื้นฐาน ความเป็นมา จุดเปลี่ยน จุดวิกฤตในแต่ละวัย
.....พัฒนาการ หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ของมนุษย์อย่างมีระเบียบแบบแผน เป็นขั้น ตอน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นจะทำให้เรามีความสามารถใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เรามีอยู่ ทั้งทางด้านร่าง กาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม

จิตวิทยาพัฒนาการ 4 ช่วงวัย
พัฒนาการทางร่างกาย (Physical Development)
          -  ลักษณะการเจริญเติบโต
          -  เป็นไปในลักษณะเพื่อให้อวัยวะต่าง ๆ สามารถทำงานได้ตามหน้าที่
          -  มีอัตราการเจริญเติบโตทางด้านน้ำหนักและส่วนสูง
          -  รับประทานอาหารได้น้อย เลือกอาหารเฉพาะที่ชอบเท่านั้น
          -  ลักษณะร่างกาย
          -  ช่องท้องบางลง หน้าอกและไหล่กว้างและใหญ่ขึ้น
          -  แขนขายาวออกไป ศีรษะได้ขนาดกับลำตัว มือและเท้าใหญ่ขึ้น
          - โครงกระดูกแข็งขึ้น กล้ามเนื้อเติบโตแข็งแรงขึ้น
          -  สามารถใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น
          -  ระบบกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัสทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
พัฒนาการทางจิตใจ  (Psychological Development)
          -  มีอารมณ์ตื่นเต้น พอใจ-ไม่พอใจ กลัวโกรธ เกลียด ยินดี รัก 
          -  มีการพัฒนาความเจริญงอกงามด้านจิตใจ 
          -  โกรธง่ายจากการไม่ได้รับการตอบสนองในสิ่งที่ต้องการ
          -  รักบุคคลที่ให้การตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการ
          -  กลัวสิ่งแปลกใหม่ หรือกลัวในสิ่งที่จินตนาการไปเอง 
          -  ช่างซักถาม  ช่างสงสัยทุกเรื่องและถามได้ตลอดเวลา  ไม่สิ้นสุด  
          -  อิจฉาเมื่อรู้สึกว่าตนด้อยกว่าผู้อื่น หรือสูญเสียความสนใจที่ตนเคยได้รับ
          -  ร่าเริง ดีใจหรือสนุกสนานเมื่อได้รับการตอบสนองตามที่ตนต้องการทันเวลา 
พัฒนาการทางสังคม (Social Development)
          -  ชอบการเข้าสังคม การพบปะพูดคุยกับผู้คน
          -  มีเพื่อนเล่นรวมกลุ่มกับเพื่อนทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ
          -  มีความคิดและการเล่นที่อิสระไม่ชอบกฎเกณฑ์
          -  ต้องการเป็นที่ยอมรับของกลุ่มโดยการแบ่งปันสิ่งของให้กับผู้อื่น
          -  แสดงออกถึงความเป็นผู้นำ ชอบเล่นบทบาทสมมติเป็นพ่อแม่ ครูนักเรียน
          -  พยายามช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลืองานบ้านง่ายๆ 
          -  รู้จักปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นทั้งวัยเดียวกันและวัยต่างกัน 
          -  เรียนรู้มารยาทการไหว้ทักทาย การพูดคุย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
          -  เรียนรู้ที่จะระมัดระวังคนแปลกหน้า
พัฒนาการทางสติปัญญา (Intellectual Development)
          -  ชอบอิสระ
          -  ชอบแก้ปัญหาตามความคิดและวิธีการของตนเอง
          -  แสวงหาวิธีการต่าง ๆ จากการทดลองปฏิบัติผิดถูก การซักถาม การเปรียบเทียบ
          -  การแสดงออกทางการเล่น การสามารถจำสิ่งของหรือบุคคลต่าง ๆ อย่างถูกต้อง
          -  สามารถบอกความเหมือน ความต่าง
          -  มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก
          -  สามารถใช้ภาษาได้ดีขึ้น เข้าใจภาษา ความหมายของคำใหม่ ๆ
          -  อ่านและเขียนได้ดีขึ้น


ทฤษฎีเกี่ยวข้องกับจิตวิทยาพัฒนาการ
          1. ทฤษฎีพัฒนาการทางเพศของฟรอยด์มีหลักสำคัญ 
               คือ พฤติกรรมทุกอย่างของมนุษย์เกิดมาจากสัญชาตญาณทางเพศและความก้าวร้าวเป็นสำคัญ  โดยมีขั้นตอนพัฒนาการทางเพศเป็น 5 ขั้นตอน คือ ขั้นปาก ทวารหนัก อวัยวะสืบพันธุ์ ระยะแฝง และความเป็นจริง ในกรณีที่ไม่สามารถจะแสดงออกตามความพอใจของตนได้ บุคคลนั้นจะใช้กลไกป้องกันตนเองทันที
          2. ทฤษฎีพัฒนาการทางสังคมของแอดเลอร์มีหลักสำคัญ 4 ประการ คือ
               2.1การเข้าร่วมสังคมจะเริ่มมาจากครอบครัว 
               2.2 ความรู้สึกมีปมด้อยทั้งทางร่ายกายและสังคม 
               2.3วิถีทางปฏิบัติเพื่อลดปมด้อยและสร้างปมเด่นของตนขึ้นมา 
               2.4 เป้าหมายถึงจุดมุ่งหมายในชีวิตของแต่ละบุคคลจะยึดหลักของความพอใจของแต่ละคนเป็นสำคัญ
          3. ทฤษฎีพัฒนาการทางบุคลิกของอิริกสัน มี 7 ขั้นตอน คือ 
               3.1 แรกเกิด-3ขวบ เป็นช่วงของการสร้างความเชื่อถือไว้ใจ หรือความไม่ไว้ใจ 
               3.2 1.5-3ขวบ เด็กจะเริ่มมีความคิดสร้างสรรค์ หรือเกิดความไม่กล้าทำ รู้สึกผิดได้ 
               3.3 6-12ปี เป็นช่วงของการฝึกความอุตสาหะ ถ้าเด็กเกิดความล้มเหลวจะเกิดปมด้อยขึ้นมาทันที 
               3.4 12-18ปี วัยรุ่นเริ่มแสวงหาเอกลักษณ์เป็นของตนเอง หรืออาจเกิดความวุ่นวายใจได้ 
               3.5 18-21ปี วัยรุ่นที่รู้บทบาทของตัวเองจะมีความสุขในทางตรงข้ามจะเกิดความโดดเดี่ยวอ้างว้าง 
               3.6 22-40ปี วัยผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่เป็นพ่อแม่ดีของลูก หรืออาจจะเป็นพ่อแม่ที่ขาดความรับผิดชอบ 
               3.7 40ปีขึ้นไป บุคลิกภาพจะมีความแน่นอนขึ้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
          4. ทฤษฎีพัฒนาการทางด้านสติปัญญาของเพียเจท์ มี4ขั้นตอน คือ 
               4.1 แรกเกิด-2ปี จะอาศัยปราสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวจากปฎิกิริยาสะท้อนมาเป็นเครื่องช่วย 
               4.2 2-7ปี เป็นขั้นก่อนมีความคิดร่วมยอด ระยะนี้เด็กจะมีพัฒนาการทางด้านภาษาและความคิดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 
               4.3 7-11ปี ขั้นการคิดหาเหตุผลโดยการใช้รูปธรรม 
               4.4 11-15ปี เป็นช่วงที่เด็กเริ่มคิดหาเหตุผลในลักษณะที่เป็นนามธรรมได้อย่างถูกต้อง
          5.ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ ประกอบด้วย
               5.1 ความต้องการทางด้านร่างกาย 
               5.2 ความต้องการด้านความปลอดภัย 
               5.3 ความต้องการด้านความเป็นเจ้าของ 
               5.4 ความต้องการได้รับการยกย่องนับถือ 
               5.5 ความต้องการที่จะบรรลุถึงความต้องการที่แท้จริงของตนเอง ซึ่งความต้องการในแต่ละขั้นจะต้องได้รับการสนองก่อนจึงจะทำให้เกิดความต้องการในขั้นต่อไป



จิตวิทยาการรับรู้
การรับรู้ (Perception)
.....การรับรู้ หมายถึง การแปลความหมายจากการสัมผัส โดยเริ่มตั้งแต่ การมีสิ่งเร้ามา กระทบกับอวัยวะรับสัมผัสทั้งห้า และส่งกระแสประสาท ไปยังสมอง เพื่อการแปลความ

กระบวนการของการรับรู้ (Process)
.....เป็นกระบวนการที่คาบเกี่ยวกันระหว่างเรื่องความเข้าใจ การคิด การรู้สึก (Sensing) ความจำ (Memory) การเรียนรู้ (Learning) การตัดสินใจ (Decision making)

กระบวนการรับรู้ จะเกิดได้จะต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
          1.มีสิ่งเร้า ( Stimulus ) ที่จะทำให้เกิด การรรับรู้ เช่น สถานการณ์ เหตุการณ์ สิ่งแวดล้อม   รอบกาย ที่เป็น คน สัตว์ และสิ่งของ
          2.ประสาทสัมผัส ( Sense Organs ) ที่ทำให้เกิดความรู้สึกสัมผัส เช่น ตาดู หูฟัง จมูกได้   กลิ่น ลิ้นรู้รส และผิวหนังรู้ร้อนหนาว 
          3.ประสบการณ์ หรือความรู้เดิมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเร้าที่เราสัมผัส
          4.การแปลความหมายของสิ่งที่เราสัมผัส สิ่งที่เคยพบเห็นมาแล้วย่อมจะอยู่ในความทรงจำของสมอง เมื่อบุคคลได้รับสิ่งเร้า สมองก็จะทำหน้าที่ทบทวนกับความรู้ที่มีอยู่เดิมว่า สิ่งเร้านั้นคืออะไร
เมื่อมนุษย์เราถูกเร้าโดยสิ่งแวดล้อม ก็จะเกิดความรู้สึกจากการสัมผัส (Sensation) โดยอาศัยอวัยวะสัมผัสทั้ง 
          5.คือ ตา ทำหน้าที่ดูคือ มองเห็น หูทำหน้าที่ฟังคือ ได้ยิน ลิ้นทำหน้าที่รู้รส จมูก ทำหน้าที่ดมคือได้กลิ่น ผิวหนังทำหน้าที่สัมผัสคือรู้สึกได้อย่างถูกต้อง กระบวนการรับรู้ ก็สมบูรณ์แต่จริงๆ แล้วยังมีการสัมผัส
ภายในอีก 3 อย่างด้วยที่จะช่วยให้เรารับสัมผัสสิ่งต่างๆ

องค์ประกอบของการรับรู้
          1.สิ่งเร้าได้แก่วัตถุ แสง เสียง กลิ่น รสต่างๆ
          2.อวัยวะรับสัมผัส ได้แก่ หู ตา จมูก ลิ้น ผิวหนัง ถ้าไม่สมบูรณ์จะทำให้สูญเสียการรับรู้ได้
          3.ประสาทในการรับสัมผัสเป็นตัวกลางส่งกระแสประสาทจากอวัยวะรับสัมผัสไปยังสมองส่วนกลาง เพื่อการแปลความต่อไป
          4.ประสบการณ์เดิม การรู้จัก การจำได้ ทำให้การรับรู้ได้ดีขึ้น
          5.ค่านิยม ทัศนคติ
          6.ความใส่ใจ ความตั้งใจ
          7.สภาพจิตใจ อารมณ์ เช่น การคาดหวัง ความดีใจ เสียใจ
          8.ความสามารถทางสติปัญญา ทำให้รับรู้ได้เร็ว

การจัดระบบการรับรู้
.....มนุษย์เมื่อพบสิ่งเร้าไม่ได้รับรู้ตามที่สิ่งเร้าปรากฏแต่จะนำมาจัดระบบตามหลักดังนี้
          1.หลักแห่งความคล้ายคลึง ( Principle of similarity) สิ่งเร้าใดที่มีความคล้ายกันจะรับรู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน
          2.หลักแห่งความใกล้ชิด (Principle of proximity ) สิ่งเร้าที่มีความใกล้กันจะรับรู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน
          3.หลักแห่งความสมบูรณ์ (Principle of closure) เป็นการรับรู้สิ่งที่ไม่สมบูรณ์ให้สมบูรณ์ขึ้นความคงที่ของการรับรู้ ( Perceptual constancy ) ความคงที่ในการรับรู้มี 3 ประการ ได้แก่ การคงที่ของขนาด
               3.1 การคงที่ของรูปแบบ รูปทรง
               3.2 การคงที่ของสีและแสงสว่าง
               3.3 การรับรู้ที่ผิดพลาด แม้ว่ามนุษย์มีอวัยวะรับสัมผัสถึง 5 ประเภทแต่มนุษย์ก็ยังรับรู้ผิดพลาดได้ เช่น ภาพลวงตา การรับฟังความบอกเล่า ทำให้เรื่องบิดเบือนไป การมีประสบการณ์และค่านิยมที่แตกต่างกัน ดังนั้นการรับรู้ถ้าจะให้ถูกต้อง จะต้องรับรู้โดยผ่าน ประสาทสัมผัสหลายทาง ผ่านกระบวนการคิดไตร่ตรองให้มากขึ้น